วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

แนวโน้มและทิศทางของการประเมิน



บทนำ
                การประเมินมีบทบาทสำคัญอย่่างมากต่อผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้อง  เพราะการประเมินก่อให้เกิดประโยชน์สำคัญๆ หลายประการ  เช่น  ทำให้ได้ข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย หรือทิศทางการดำเนินงานขององค์กร  ได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุง  สื่อ/ชิ้นงาน  แผนงาน  โครงการ  ให้เหมาะสมก่อนนำไปปฏิบัติ  ลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดปัญหา   จะทำให้ทราบจุดเด่นจุดด้อยของงาน มีโอกาสที่จะปรับปรุงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น  ลดโอกาสความสูญเปล่าในการปฏิบัติงาน  ที่สำคัญคือ  โอกาสความความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กรในอนาคต  ส่วนหนึ่งจะขึ้นอยู่กับความสามารถด้านการประเมินขององค์กร  องค์กรที่มีความสามารถหรือมีศักยภาพในการประเมินสูง  จะมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้อย่างต่อเนื่อง  จะสามารถยกระดับคุณภาพงานขององค์กรได้อย่างรวดเร็ว  และมีประสิทธิภาพ[1]  ด้วยเหตุดังกล่าว  องค์กรและสถาบันต่างๆ ในต่างประเทศจึงให้ความสำคัญกับการประเมินและการใช้ผลการประเมินเป็นอย่างมาก   สำหรับการประเมินในประเทศไทย  แม้ว่าองค์กรของรัฐทุกองค์กรจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานด้านการประเมินเป็นการเฉพาะ  และมีการรายงานผลการดำเนินงานตามที่กำหนด  แต่เมื่อเทียบกับองค์กรภาคธุรกิจและองค์กรอิสระบางองค์กรแล้ว  พบว่าองค์กรประเภทหลังมักให้ความสำคัญกับระบบคุณภาพมากกว่าองค์กรของรัฐ[2]  เมื่อองค์กรและสถาบันต่างๆ   ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการประเมินและการใช้ผลการประเมินดังกล่าวแล้ว  จึงทำให้การประเมินมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง  ตั้งแต่ปี ค.ศ.1904  จนถึงปัจจุบัน  ในระยะเวลาดังกล่าว  กูบาและลินคอล์น(Guba & Lincoln, 1989)[3]  ได้แบ่งยุคของการประเมินออกเป็น 4 ยุค  การประเมินในสมัยปัจจุบันถือว่าเป็นการประเมินยุคที่ 4   แนวคิดทฤษฎีการประเมินในแต่ละยุคมีลักษณะสำคัญและจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน  การนำไปใช้ประโยชน์จึงแตกต่่างกัน  ได้รับความนิยมมากบ้างน้อยบ้าง  ที่สำคัญ  แนวคิดทฤษฎีการประเมินที่ได้รับความนิยมมากในยุคหนึ่ง  เมื่อเวลาผ่านไปสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป จึงอาจได้รับความนิยมลดลงหรือไม่ได้รับความนิยมเลยก็ได้  เพราะไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป   ด้วยเหตุนั้น  นักประเมินผู้เป็นเจ้าของทฤษฎี  หรือนักประเมินรุ่นใหม่ จึงต้องทำการปรับปรุงพัฒนาแนวคิดทฤษฎีเดิมให้ดียิ่งขึ้นหรือทำการคิดค้นแนวคิดทฤษฎีการประเมินขึ้นมาใหม่ๆ เพื่อให้สอดคล้องและก้าวทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม
ลักษณะสำคัญของการประเมินในยุคที่ 4
                การประเมินในยุคที่ 4  มีลักษณะสำคัญ ดังนี้
                1.        มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรยายรายละเอียดในเชิงตีความหมาย  และทำความเข้าใจอย่างกระจ่างชัดเกี่ยวกับความสลับซับซ้อนของกิจกรรม  การดำเนินงานของโครงการ  เพื่อตอบสนองความต้องการสารสนเทศของผู้ใช้ผลการประเมิน
                2.        ความรู้ทางการประเมินที่ดีตามทัศนะของการประเมินในยุคนี้  ต้องเป็นที่ยอมรับว่ามีความเที่ยงตรงเชื่อถือได้  มีความเป็นประชาธิปไตย  และเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสิ่งที่จะประเมิน  โดยไม่เพียงอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของนักประเมิน  หรือโดยอาศัยวิธีการทดลอง  เพราะไม่สามารถนำไปใช้ได้กับสภาพการณ์จริงทางสังคมที่มีความซับซ้อนและหลากหลายค่านิยม ความเชื่อ อำนาจ และผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องจำนวนมาก
                3.        รูปแบบและวิธีการประเมินไม่เน้นกรอบความคิด  รูปแบบหรือวิธีการประเมินวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างเข้มงวดเป็นการตายตัวไว้ล่วงหน้าก่อนการประเมิน   แต่เน้นการประเมินเชิงธรรมชาติที่ไม่รบกวนสภาพปกติตามความเป็นจริงของสิ่งที่ประเมิน  มุ่งศึกษาข้อมูลอย่างลุ่มลึกเกี่ยวกับกิจกรรมของสิ่งที่จะประเมินอันจะนำไปสู่การเข้าใจองค์รวมทั้งหมดของสิ่งที่จะประเมินและปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
                4.        นักประเมินมีหน้าที่หลักในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับผู้ว่าจ้างให้ทำการประเมิน  ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสนใจ  หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประเมินอย่างใกล้ชิด  และให้ความสนใจต่อข้อเรียกร้องความคับข้องใจต่อประเด็นปัญหา  รวมทั้งปฏิกิริยาท่าทางในการสนับสนุนหรือคัดค้านของบุคคลและกลุ่มบุคคล  นอกจากนั้น  ต้องทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยในเชิงประสานประโยชน์ในการเจรจาต่อรองในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งความเห็นที่เป็นเอกฉันท์  ต่อประเด็นสำคัญๆ ต่าง ๆ ที่อ่อนไหวและไวต่อการเกิดความขัดแย้งทางความคิดหรือผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้การประเมินเป็นไปอย่างราบรื่นและต่อเนื่อง  นอกจากนั้น  ยังเชื่อว่านักประเมินที่ดีควรสวมบทบาทเป็นนักประเมินเชิงให้บริการ  ให้กำลังใจ  ให้คำปรึกษา  แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  เพื่อให้ได้รับความร่วมมือร่วมใจในการประเมินมากกว่าเป็นการที่อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาการเพียงอย่างเดียว
                5.        ผู้ที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการประเมิน ประกอบด้วยบุคคลหลาย ๆ ฝ่าย  ได้แก่  ผู้ว่าจ้างให้ทำการประเมิน  เจ้าของทุนหรือผู้สนับสนุนให้มีการประเมิน  ผู้บริหารหรือผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ประเมิน  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประเมิน  สาธารณชนทั่วไป  เป็นต้น
 แนวโน้มและทิศทิศทางของการประเมินในอนาคต
                จากแนวคิดดังกล่าวแล้วข้างต้น  พอจะสรุปแนวโน้มและทิศทางของการประเมินได้ ดังนี้
                1.        การประเมินมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงจากรูปแบบและวิธีการประเมินในยุคก่อน ๆ เช่น การประเมินที่เน้นการทดลอง  และเน้นการตัดสิน  เป็นต้น  ซึ่งผู้ประเมินแสดงบทบาทในฐานะของผู้พิพากษาทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสิน   มาใช้วิธีการประเมินแบบมีส่วนร่วมระหว่างผู้ประเมินและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับต่างๆ มากขึ้น  โดยที่ผู้ประเมินเข้าไปมีบทบาทเพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  และมุ่งพัฒนาตนเองตามศักยภาพของบุคคลเหล่านั้นโดยใช้วิธีการเชิงธรรมชาติ   ทั้งนี้  เพราะการประเมินแบบตามธรรมชาติแบบมีส่วนร่วม  มีข้อดีหลายประการ  เช่น  1) เป็นการประเมินที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันของมนุษย์  ดังนั้น  ผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินจึงไม่เกิดความเครียด  2) เป็นการประเมินที่ใช้ข้อมูลจากหลายแหล่งรอบด้าน  จึงทำให้ผลการประเมินสอดคล้องกับสภาพที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด  ทำให้ผู้ประเมินเข้าถึงปัญหาและความต้องการที่แท้จริง  เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ประเมินเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร  3) เป็นการประเมินที่เน้นความเป็นมนุษย์และพฤติกรรมของมนุษย์  ซึ่งสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของมนุษย์  มีความเชื่อในความสลับซับซ้อนของพฤติกรรมมนุษย์  และ 4) มีความยืดหยุ่นสูง  ทั้งในแง่การกำหนดประเด็นคำถามที่มุ่งประเมินและวิธีการประเมิน  รูปแบบการประเมินดังกล่าวนี้  ได้แก่  การประเมินที่ตอบสนองต่อผู้ใช้ผลการประเมิน (Responsive  Constructivist  Evaluation) การประเมินแบบมีส่วนร่วม  (Participatory  Evaluation )  การประเมินแบบเสริมพลังอำนาจ (Empowerment  Evaluation )  และการประเมินแบบโต้แย้ง (Adversary  Evaluation)[4]   
                2.  ตามความเห็นของวอร์เธ็น[5]   ได้พยากรณ์เกี่ยวกับการประเมินไว้ดังนี้
                2.1        การประเมินจะเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น  โดยเข้ามามีส่วนในการดำเนินงานโครงการเพื่อสาธารณชนหรือการตัดสินใจเชิงนโยบายของผู้บริหาร (เพราะผู้บริหารต้องการการยอมรับจากสังคม)
                2.2        จะมีการประเมินในองค์กรทั้งของรัฐและเอกชน  รวมทั้งองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรมากขึ้นทั้งในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ  (เพราะต้องการให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก  มีคุณภาพ  และได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด)
                2.3        การประเมินจะเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกอย่างรวดเร็ว  (เพราะความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี  ทำให้การเผยแพร่ผลงานการประเมินเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็ว)
                2.4        วิธีการประเมินที่ใช้อยู่ในสหรัฐอเมริกา  จะมีการจำลองไปใช้ในบริบทของประเทศต่างๆ ทั่วโลก  (เพราะนักประเมินเชื่อถือวิธีการประเมินของสหรัฐอเมริกามากที่สุด)
                2.5        การประเมินบางด้านอาจมีการขยายตัวอย่างช้า ๆ จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  เป็นต้นว่า  ด้านสุขภาพ  การศึกษา  จิตวิทยา  การจัดสวัสดิการสังคม   (เพราะการประเมินบางด้านอยู่ในองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร  จึงค่อยๆ พัฒนาไปทีละขั้น  ไม่รีบด่วนพัฒนาเหมือนองค์กรธุรกิจ)
                2.6        การประเมินและนักประเมินจะถูกแทรกแซงทางการเมืองมากขึ้น  (เพราะนักประเมินอาชีพ  รายงานผลการประเมินอย่างตรงไปตรงมา  ทำให้นักการเมืองเสียประโยชน์  จึงต้องพยายามแทรกแซงทุกวิถีทาง)
                2.7        จะมีการเผยแพร่สารสนเทศเกี่ยวกับการประเมินอย่างต่อเนื่อง  (เพื่อต้องการเผยแพร่ผลงานขององค์การ  และต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และประเทศชาติ)
                2.8        ประเด็นเรื่องจริยธรรมและมาตรฐานต่าง ๆ จะเป็นเรื่องที่กล่าวถึงกันในกลุ่มนักประเมิน  (เพราะจริยธรรมและมาตรฐานเป็นเครื่องแสดงคุณภาพและประสิทธิภาพของนักประเมิน ว่าจะสามารถดำรงอยู่อย่างมั่นคงในสังคมได้ยาวนานเท่าใด)
                2.9        การประเมินโครงการจะเติบโตอย่างช้า ๆ แต่มั่นคง  ก้าวไปสู่ความเป็นวิชาชีพต่อไป  (เพราะเริ่มมีองค์กรต่าง ๆ นำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงพัฒนาโครงการของหน่วยงานตนเอง มากขึ้น)
                2.10      การที่สังคมมีความต้องการการประเมินเป็นอย่างมาก  อาชีพนักประเมินจึงเป็นที่ต้องการมากขึ้น
                2.11      มีการจัดหลักสูตรให้ความรู้ด้านการประเมินมากขึ้น  (เพราะสถาบันการศึกษาต้องมีการพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอยู่เสมอ  อย่างน้อยก็ทุก ๆ 5 ปี)
                2.12      การประเมินภายในจะกลายมาเป็นภาระงานขององค์กรต่าง ๆ  (เพราะการประเมินภายในทำให้องค์องค์กรรู้จุดเด่น จุดด้อย จุดอ่อน จุดแข็งของตนเอง  ทำให้การพัฒนาองค์กรเป็นไปอย่างถูกจุด ถูกทิศทาง  ไม่เป็นการพัฒนาที่สูญเปล่า)
                2.13      ความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการรายงานการประเมินเปลี่ยนแปลงไป  มีการใช้สื่อผสมทางอิเล็กทรอนิกส์ในการรายงานผลมากขึ้น  (เพราะมีความสะดวกและประหยัดเวลาได้มาก)
                2.14      ความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี  ทำให้มีการใช้เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีกลยุทธ์มากขึ้น

                กล่าวโดยสรุป   ทิศทางของการประเมินโดยทั่วไป  หมายถึงแนวโน้มหรือแนวทางใหม่ ๆ ในการประเมิน  ซึ่งกำลังอยู่ในยุคที่ 4  ตามการแบ่งของกูบาและลินคอล์น (Guba & Lincoln, 1989) มีการเปลี่ยนแปลงจากการประเมินในยุคก่อนๆ หลายประการ  ประกอบด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว  ทำให้การประเมินมีความเป็นสากลมากขึ้น  สามารถพิจารณาในด้านต่าง ๆ ได้แก่ แนวคิดเกี่ยวกับการประเมิน  วิธีการประเมิน  องค์กรหรือสมาคมทางการประเมิน  แหล่งข้อมูล  และเผยแพร่ความก้าวหน้าทางการประเมิน   ฯ
               ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะเป็นแสงสว่างส่องทางปัญญาแก่นักบริหาร นักประเมิน และผู้เกี่ยวข้องทางการศึกษา  ให้สามารถมองเห็นหนทางและทิศทางของการประเมินที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน  และที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต  และให้สามารถเตรียมพร้อมเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างทันการณ์และด้วยความภาคภูมิใจ  ฯ


บรรณานุกรม




[1] ผศ.ดร.สุพักตร์ พิบูลย์                   หน่วยที่ 1  แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการประเมิน  จากประมวลสาระชุดวิชา การประเมินและการจัดการโครงการประเมิน  : 8
[2] ผศ.ดร.สิริรัตน์ วิภาสศิลป์            หน่วยที่ 2  สัมมนาปัญหาและทิศทางการประเมิน     จากประมวลสาระชุดวิชา  สัมมนาการประเมินการศึกษา  : 44
[3] Guba & Lincoln, 1989  อ้างจาก  ผศ.ดร.สิริรัตน์ วิภาสศิลป์       หน่วยที่ 2  สัมมนาปัญหาและทิศทางการประเมิน  จากประมวลสาระชุดวิชา  สัมมนาการประเมินการศึกษา  :75
[4] ผศ.ดร.สิริรัตน์ วิภาสศิลป์             หน่วยที่ 2  สัมมนาปัญหาและทิศทางการประเมิน    จากประมวลสาระชุดวิชา  สัมมนาการประเมินการศึกษา  : 79
[5] Worthen, 2001 : 415-416  เพิ่งอ้าง  : 82